ไสยศาสตร์
ไสยศาสตร์
ศาสตร์ทั้งหลายบนโลกนี้แบ่งแยกได้เป็น 2 ศาสตร์ใหญ่ๆคือ
1 พุทธศาสตร์ หมายถึงศาสตร์แห่งการตื่น เปรียบได้กับความรู้หรือความเข้าใจและ การกระทำต่างๆที่สามารถแสดงและพิสูจน์ให้ผู้อื่นรู้จริงเห็นแจ้งชัดสามารถแสดงให้ผู้อื่นรับรู้และเข้าใจได้ทุกขั้นตอนอย่างเป็นหลักการ เช่น วิทยาศาสตร์ หรือ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น
2 ไสยศาสตร์ หมายถึงศาสตร์แห่งการหลับ เปรียบได้กับความรู้หรือความเข้าใจและ การกระทำต่างๆที่ไม่สามารถพิสูจน์ให้ผู้อื่นรับรู้และเข้าใจได้อย่างเป็นหลักการทุกขั้นตอน แต่สามารถให้ผลลัพธ์ ให้คุณ แสดงผล และแสดงคุณของไสยศาสตร์ได้ตามความต้องการของผู้กระทำได้ และแม้ว่าไสยศาสตร์จะหมายถึงการ หลับใหล ก็ตามแต่ก็ หมายความว่าเป็นเพียงการหลับของร่างกายสังขารเท่านั้น โดยนัยยะ จริงๆก็คือเป็นการหลับเพียงร่างกายเท่านั้นแต่ จิต เป็นผู้ กระทำนั่นเอง ดังนั้น ไสยศาสตร์ จึงสรุปได้ว่าคือการกระทำให้สำเร็จได้ด้วยจิตโดยไม่สามารถพิสูจน์หรือแสดงขั้นตอนการกระทำหรือชี้แจงหลักการของความเป็นไปของการกระทำได้นั่นเอง(ยกตัวอย่างเช่น การฝังรูปฝังรอย ที่ใช้วิธีนำเอาดินมาปั้นเป็นรูปคนสองคนแล้วนำมามัดเข้าด้วยกันเพื่อให้รักกันนั้นหากมองในทางไสยศาสตร์ก็คือวิชชาเสน่ห์ประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับและใช้ได้ผลกันมานานนับร้อยๆปีแต่หากมองในแง่พุทธศาสตร์แล้วกลายเป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้เลยว่าการที่นำดินสองกองมาปั้นเป็นรูปคนแล้วนำมาผูกกันจะเกี่ยวข้องอะไรกับการที่จะให้คนสองคนนั้นมารักกันได้ เป็นต้น)
ไสยศาสตร์ยังแบ่งออกเป็นอีก 2 สาย คือ
1 ไสยวิชชา หมายถึงวิชาหรือพิธี,วิธี ที่ได้รับการสั่งสอน อบรมสั่งสอนหรือมอบให้(บางคนเรียกว่าครอบให้)ต่อๆกันมาแบ่งออกเป็น
1.1 วิชชาไสยขาว โดยทั่วไปหลักการของวิชชาไสยขาวจะต้องมีหลักการหรือหัวใจสำคัญคือต้องใช้ไปในทางช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้น
1.2 วิชชาไสยดำ หลักการโดยทั่วไปของวิชชาไสยดำจะแตกต่างจากวิชชาไสยขาวโดยสิ้นเชิงคือมุ่งเน้นสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นหลักสำคัญโดยไม่ต้องมีแรงจูงใจหรือหลักการใดๆทั้งสิ้น (ยิ่งมีผู้เดือดร้อนกับการกระทำของผู้เรียนวิชชาไสยดำมากเท่าไหร่พลังของผู้ที่ศึกษาของวิชชานี้ก็จะยิ่งแกร่งและแก่กล้าขึ้นมากเท่านั้น)
2 ไสยอวิชชา หมายถึงวิชาหรือพิธี,วิธี ที่คิดค้นขึ้นเองโดย ผู้ทำพิธี ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของสิ่งที่ มีพลัง มีฤทธิ์ มีอาถรรพ์ นำมาเป็นปัจจัยหลัก
(ในบางกรณีมักมีการ กล่าวอ้างว่าไสยศาสตร์ คือเดียรฉานวิชานั้น เป็นความเข้าใจที่ผิดๆเพราะคำว่าเดียรฉานแปลว่าสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังขนานกับพื้นซึ่งตรงข้ามกับคำว่านิรฉานซึ่งหมายถึงสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังตั้งฉากกับพื้น คำว่าเดียรฉานวิชาจึงอาจหมายถึงการด่าหรือต่อว่า ประณาม หยามเหยียดซะมากกว่า)